การบริหารความขัดแย้งในโครงการ (Conflict Management in Project)

 

Conflict Management, การบริหารความขัดแย้ง, ความขัดแย้ง         Conflict หรือ ความขัดแย้งในโครงการนั้น สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ในการดำเนินโครงการ เหตุเนื่องมาจาก การทำงานในโครงการนั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายแตกต่างกันไป ส่งผลให้มีมุมมองที่แตกต่าง และ ผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการนั้น ย่อมมีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการ ในเงื่อนไขและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจที่แตกต่างกัน  Conflict นั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียต่อโครงการ หากผู้จัดการโครงการ ไม่สามารถจัดการความขัดแย้งในโครงการได้ ก็จะส่งผลด้านลบต่อโครงการ เช่น สมาชิกในทีมเสียกำลังใจในการทำงาน  ประสิทธิภาพของงานลดลง  ส่งมอบงานที่ขาดคุณภาพ  หรือโครงการล้มเหลวไปในที่สุด  ในทางกลับกัน หากผู้จัดการโครงการ สามารถบริหาร Conflict ในโครงการได้ดี  ก็จะส่งผลด้านบวกต่อโครงการ เช่น เกิดการรวมพลังเพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ทำให้เห็นมุมมองที่แตกต่างหลากหลายและนำมาปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อโครงการ และส่งผลให้โครงการมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น เทคนิควิธีการ บริหารความขัดแย้งในโครงการ หรือ Conflict Management Techniques นั้น หากอ้างอิงตาม Project Management Body Of Knowledge (PMBOK)  นั้น จะสามารถ แบ่งออกได้เป็น 5 วิธีการ ซึ่ง Project Manager ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้

  1. Withdrawing หรือ Avoiding
คือการ นิ่งเฉยยังไม่ดำเนินการใดกับข้อขัดแย้ง หรือรอให้ข้อขัดแย้งได้รับการแก้ไขด้วยตัวของมันเองเมื่อเวลาผ่านไป  เรียกได้ว่าเป็นวิธีแก้ไขข้อขัดแย้งแบบ สงบสยบเคลื่อนไหว วิธีดังกล่าวนั้น Project Manager ควรใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์เหล่านี้
  • ใช้เมื่อเรื่องขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่มีผลกระทบกับโครงการมากนัก
  • ใช้เมื่อคู่ขัดแย้งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการในระดับต่ำหรือไม่สำคัญ
  • ใช้เมื่อ Project Manager ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในการจัดการข้อขัดแย้ง
  • ใช้ในกรณีที่ทีมงาน ผ่านการขัดแย้งมายาวนาน และต้องการเวลาในการพัก เพื่อลดความขัดแย้งลงบ้าง
  • ใช้เมื่อ Project Manager พิจารณาแล้วว่า ข้อขัดแย้งดังกล่าว สามารถถูกแก้ไขหรือหมดไปด้วยตัวมันเอง เมื่อเวลาผ่านไป
ข้อดี ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Withdraw หรือ Avoid คือ Project Manager ไม่ต้องเสียเวลาในการจัดการข้อขัดแย้ง และใช้เวลาในการทำสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า  แต่เลือกที่จะปล่อยให้การขัดแย้งดำเนินไป และหมดไปเมื่อเวลาผ่านไป
ข้อเสีย ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Withdraw หรือ Avoid คือ หาก Project Manager ใช้วิธีการจัดการด้วยวิธีนี้บ่อยครั้ง จะส่งผลลบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของตัว Project Manager เอง ในสายตาของทีมงานและผู้บริหาร อีกทั้งยังอาจจะทำให้ ข้อขัดแย้งที่ไม่หมดไปตามเวลา เติบโตขึ้นเป็นความขัดแย้งรุนแรงและยากที่จะจัดการได้ ส่งผลให้โครงการล้มเหลว
  1. Smoothing หรือ Accommodating
คือการพยายาม หาแนวทาง หรือทางออกของข้อขัดแย้งที่ทุกคนรู้สึกสบายใจ และเน้นให้ลดความรุนแรงของข้อขัดแย้งลง สร้างบรรยากาศของความราบรื่นในการทำงานร่วมกัน หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าเพื่อโต้เถียง วิธีการดังกล่าวนั้น Project Manager จะพยายาม หาแนวทางแก้ไขข้อขัดแย้ง ที่เน้นประโยชน์ของผู้อื่นหรือคู่ขัดแย้งเป็นที่ตั้ง มากกว่าประโยชน์ของตนเองหรือประโยชน์ของโครงการ เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการทำงานมากที่สุด  เรียกได้ว่าเป็นวิธีแก้ไขข้อขัดแย้งแบบ  อ่อนสยบแข็งกร้าว  วิธีดังกล่าวนั้น Project Manager ควรใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์เหล่านี้
  • ใช้เมื่อ Project Manager ต้องการให้เกิดการร่วมมือเพื่อทำงานร่วมกัน และพักข้อขัดแย้งไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถหาแนวทางที่แก้ไขในระยะยาวได้
  • ใช้เมื่อคู่ขัดแย้งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครงการในระดับสูงหรือสำคัญมาก
  • ใช้เมื่อคู่ขัดแย้งมีอำนาจหรือตำแหน่งสูงกว่า Project Manager มากและมีอิทธิพลต่อโครงการในระดับสูง
  • ใช้ในกรณีที่ทีมงาน ผ่านการขัดแย้งมายาวนาน และต้องการเวลาในการพัก เพื่อลดความขัดแย้งลงบ้าง
ข้อดี ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Smooth หรือ Accommodate คือการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือ และลดความรุนแรงของข้อขัดแย้งลง รวมถึงเป็นโอกาสให้ Project Manager ได้มีเวลาในการคิดวิเคราะห์ หาทางออกในระยะยาวของการแก้ไขข้อขัดแย้ง อีกทั้งช่วยให้ข้อขัดแย้งอาจจะถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้น หลังจากคู่ขัดแย้งอยู่ในบรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกัน
ข้อเสีย ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Smooth หรือ Accommodate คือ หาก Project Manager ใช้วิธีการจัดการด้วยวิธีนี้บ่อยครั้ง จะส่งผลให้โครงการไม่สามารถดำเนินไปได้ตามแนวทางที่ถูกต้อง เนื่องจากเป็นการจัดการข้อขัดแย้ง โดยใช้ประโยชน์ของคู่ขัดแย้งเป็นที่ตั้ง มิได้ใช้ประโยชน์ของส่วนรวมหรือของโครงการเป็นที่ตั้ง อีกทั้งยังเป็นการทำให้ อำนาจของ Project Manager ลดลง อันเนื่องมาจากการที่ไม่สามารถจัดการข้อขัดแย้งให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อโครงการได้
  1. Compromising หรือ Reconcile
คือการ นำคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย มาหาทางออกที่ประนีประนอมซึ่งกันและกัน โดยสร้างให้เกิดการยอมในรับเงื่อนไข ที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ประโยชน์ในบางส่วน และเสียประโยชน์ในบางส่วน  เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ แต่ไม่มีใครชนะหรือแพ้ทั้งหมด  เรียกได้ว่าเป็นวิธีแก้ไขข้อขัดแย้งแบบ  ถอยคนละก้าว  วิธีดังกล่าวนั้น Project Manager ควรใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์เหล่านี้
  • ใช้เมื่อคู่ขัดแย้ง ไม่สามารถหาทางออกของข้อขัดแย้งร่วมกันได้ และต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลของตนเอง
  • ใช้เมื่อ Project Manager มีอำนาจเพียงพอที่จะกำหนดเงื่อนไข ในการถอยคนละก้าวของคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย
  • ใช้เมื่อคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายมีความสำคัญในโครงการ ในระดับใกล้เคียงกัน
  • ใช้เมื่อ Project Manager ยังไม่สามารถหาแนวทางแก้ไขข้อขัดแย้งในระยะยาวได้ จึงใช้วิธีการดังกล่าว เป็นการแก้ไขปัญหาชั่วคราว เพื่อใช้เวลาในการวิเคราะห์ปัญหา 
ข้อดี ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Compromise หรือ Reconcile คือการสร้างบรรยากาศของการยอมรับในข้อจำกัดของอีกฝ่าย และเรียนรู้ที่จะถอยหรือลดความต้องการของตนเองลง เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ เป็นการแก้ไขปัญหาที่ง่าย รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน และไม่ต้องวิเคราะห์ผลได้ผลเสียของแต่ละทางเลือก เนื่องจากเป็นการลดความต้องการของแต่ละฝ่ายลงมาเท่านั้น
ข้อเสีย ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Compromise หรือ Reconcile คือไม่สามารถสร้างให้เกิดการทำงานที่เป็นทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมหรือของโครงการ เป็นเพียงแนวทางชั่วคราวในการบรรเทาปัญหาความขัดแย้ง และรอวันให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากมิได้มีการแก้ปัญหาที่สาเหตุ
  1. Forcing หรือ Directing
วิธีการดังกล่าวนั้น Project Manager จะตัดสินใจที่จะเห็นด้วยและทำตามแนวทางของฝ่ายหนึ่ง และไม่ทำตามแนวทางของอีกฝ่ายหนึ่ง วิธีนี้ คู่ขัดแย้งจะมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ชนะ และฝ่ายหนึ่งเป็นผู้แพ้เสมอ  เรียกได้ว่าเป็นวิธีแก้ไขข้อขัดแย้งแบบ  เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  วิธีดังกล่าวนั้น Project Manager ควรใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์เหล่านี้
  • ใช้เมื่อ Project Manager ต้องการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
  • ใช้เมื่อ Project Manager มีอำนาจเพียงพอที่จะกำหนดเงื่อนไข ในการดำเนินการของคู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่าย
  • ใช้เมื่อ Project Manager ทราบอย่างแน่ชัดว่า ทางเลือกใดที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและโครงการ
  • ใช้เมื่อเรื่องที่ขัดแย้ง เป็นเรื่องสำคัญมาก และส่งผลกระทบรุนแรงต่อโครงการหากเลือกทางแก้ไขปัญหาผิดพลาด
  • ใช้เมื่อ Project Manager ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องความสัมพันธ์ระยะยาว ต่อคู่ขัดแย้งที่ไม่ได้การสนับสนุนทางเลือกจาก Project Manager
ข้อดี ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Force หรือ Direct คือความรวดเร็ว และเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ไขปัญหา ส่งผลให้โครงการดำเนินไปในแนวทางที่ต้องการอย่างรวดเร็ว และทีมงานมีความชัดเจนในแนวทางการทำงานของ Project Manager
ข้อเสีย ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Force หรือ Direct คือ หาก Project Manager ใช้วิธีการจัดการด้วยวิธีนี้บ่อยครั้ง จะส่งผลให้การมีส่วนร่วมของทีมงานอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากทีมงานจะเป็นฝ่ายรอการตัดสินใจจาก Project Manager แต่เพียงผู้เดียว  และโครงการจะเสียโอกาสในการได้รับความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่าง จากทีมงาน หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ  หากมีการตัดสินใจที่ผิดพลาด โครงการจะมีความเสียหายสูง เนื่องจากขาดการมองปัญหาที่รอบด้าน
  1. Collaborating หรือ Problem Solving
คือ การนำคู่ขัดแย้งและผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการ ออกความเห็น วิเคราะห์ และ ตัดสินใจหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งร่วมกัน  มีการหาข้อมูลสนับสนุน เพื่อวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสียในแต่ละทางเลือก โดยนำผลประโยชน์ของส่วนรวมและของโครงการมาเป็นที่ตั้ง และยอมเสียประโยชน์ส่วนตนบ้าง  รวมถึงหาข้อสรุปร่วมกันให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อช่วยกันทำงานให้โครงการประสบความสำเร็จ  เรียกได้ว่าเป็นวิธีแก้ไขข้อขัดแย้งแบบ  เห็นพ้องต้องกัน  วิธีดังกล่าวนั้น Project Manager ควรใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์เหล่านี้
  • ใช้เมื่อ Project Manager ต้องการแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด และเกิดจากการมีส่วนร่วมของคู่ขัดแย้งและผู้ที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันคิดและตัดสินใจ
  • ใช้เมื่อ Project Manager และคู่ขัดแย้ง และทีมงาน มีความเป็นมืออาชีพมากพอ ในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน รวมถึงคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก 
  • ใช้เมื่อ Project Manager มีเวลามากพอในการจัดการข้อขัดแย้ง
  • ใช้เมื่อเรื่องที่ขัดแย้ง เป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องการการมีส่วนร่วม และความเห็นที่ตรงกันของทุกฝ่าย ก่อนจะนำไปปฏิบัติ
ข้อดี ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Collaborate หรือ Problem Solve คือแนวทางการแก้ไขปัญหา จะเป็นแนวทางที่ดีต่อโครงการเนื่องจาก ได้รับการกลั่นกรองจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ช่วยกันวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสียของแต่ละทางเลือก และแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่ทุกคน เห็นพ้องต้องกัน และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกัน ทำให้เกิดพลังในการทำงานร่วมกัน เพราะทุกคนเป็นเจ้าของความคิดและทางเลือกดังกล่าว ร่วมกัน
ข้อเสีย ของการจัดการข้อขัดแย้งด้วยวิธี Collaborate หรือ Problem Solve คือ ใช้เวลานานในการแก้ไขปัญหา และต้องการทักษะในการสื่อสารที่เป็นมืออาชีพ รวมถึงทัศนคติที่เป็นบวก ของคู่ขัดแย้งและทีมงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมและคิดวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของแนวทางการแก้ไขข้อขัดแย้งร่วมกัน ไม่เหมาะสำหรับปัญหาเร่งด่วน
 
         แนวทางการแก้ไขปัญหาทั้ง 5 วิธี นั้นมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป  Project Manager มีความจำเป็นต้องใช้ให้เป็นทั้ง 5 วิธี ให้เหมาะสมกับสถานการณ์  ในบางเหตุการณ์ ต้อง สงบสยบเคลื่อนไหว  หรือ อ่อนสยบแข็งกร้าว   หากยังคิดไม่ออกให้ ถอยคนละก้าว  หรือ หากเร่งรีบเร่งด่วน ควรต้อง เบ็ดเสร็จเด็ดขาด  แต่การเตรียมตัวที่ดี ควรต้องสร้างบรรยากาศในการ เห็นพ้องต้องกัน  อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องปฏิบัติอยู่เสมอในการจัดการข้อขัดแย้ง ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม  Project Manager ควรปฏิบัติต่อคู่ขัดแย้ง ด้วยพฤติกรรมดังนี้
  • สื่อสารและปฏิบัติต่อคู่ขัดแย้งและคนที่เกี่ยวข้อง ด้วยการให้เกียรติ อยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสื่อสารด้วยคำพูดที่ทำลายมิตรภาพ หรือขยายความขัดแย้งมากขึ้น
  • ใจเย็น และใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ หรือ EGO ของตนเอง
  • เน้นย้ำการทำงานเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อโครงการเป็นหลัก
  • แยกปัญหาออกจากตัวบุคคล โดยเน้นการแก้ไขปัญหา และหลีกเลี่ยงการโจมตีบุคคล
  • รับฟังความคิดเห็นของทุกคน อย่างตั้งใจ และให้ความสำคัญ
  • วิเคราะห์หาทางออกที่เป็นไปได้และเหมาะสมกับสถานการณ์
  • หลีกเลี่ยงการบังคับหรือกดดันผู้อื่นเพื่อให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ
  • ถ้าเป็นไปได้ อย่าปล่อยให้ข้อขัดแย้งเติบโตจนรุนแรงและแก้ไขยาก
  • ให้ Feedback และ รับ Feedback อย่างสร้างสรรค์และเป็นมืออาชีพ

 

                                                                                               ไพบูลย์ ปัญญายุทธการ (PMP)